จุดกำเนิด … โลจิสติกส์

จุดกำเนิดของ โลจิสติกส์ ที่คุณอาจไม่เคยรู้ !

ทำความรู้จักกับ ‘โลจิสติกส์’

เดิมที .. คำว่า โลจิสติกส์ มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า logistique ที่มีรากศัพท์จาก โลเชร์ (loger) หมายถึงการเก็บ หรือความหมายจริงๆ คือ ระบบการจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอย่างอื่น จากจุดตั้งต้นไปยังจุดที่จะใช้ ตามความต้องการของลูกค้า

โลจิสติกส์จึงเกี่ยวข้องกับการประสานข้อมูล การขนส่ง การบริหารวัสดุ การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ ที่ต้องมีการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ กระจายสินค้า บริการ หรือข้อมูลจากแหล่งที่ผลิตไปถึงแหล่งที่มีความต้องการ ด้วยกระบวนการแบบบูรณาการ โดยเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีเป้าหมายในการส่งมอบแบบทันเวลาและเพื่อลดต้นทุน สร้างความพอใจแก่ลูกค้า และส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ

และโลจิสติกส์เป็นช่องทางหนึ่งของ “โซ่อุปทาน” ที่เพิ่มมูลค่าของการใช้ประโยชน์ของเวลาและสถานที่

ประวัติศาสตร์โลจิสติกส์

ในยุคก่อน การทำธุรกิจยังไม่มีหลักการ หรือกระบวนการที่ชัดเจน ดังนั้นจุดกำเนิดของโลจิสติกส์ จึงมาจากการทำสงคราม โดยเฉพาะ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีการจัดระบบการส่งกำลังบำรุงทางทหาร มีการสร้างสาธารณูปโภค ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ สนามบิน คลังอาวุธ ยานพาหนะและกองกำลังที่ลำเลียงอาวุธ เป็นงานสนับสนุนให้ทหารด้านหน้าสามารถพิชิตชัยสงคราม

ก่อนจะมีวิวัฒนาการเรื่อยมา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาได้เริ่มมีการกระจายสินค้าเกษตร และมีการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์กันอย่างแพร่หลาย จึงได้มีการเริ่มจัดรูปแบบการกระจายสินค้ามากขึ้นเป็นลำดับ และเกิดศาสตร์ทางด้านการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management Science) ขึ้นมา

ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นต้นทุนส่วนสำคัญ หากจัดการได้ดีก็ช่วยในการช่วยลดต้นทุน และสร้างกำไรทางธุรกิจได้มากขึ้น รวมถึงนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตของธุรกิจด้วย

การจัดการโลจิสติกส์สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

1. การจัดการโลจิสติกส์ทางการทหาร (Military Logistics Management) คือ การจัดการการจัดส่งกำลังบำรุงด้านการทหาร เช่น ยุทโธปกรณ์ ปัจจัยสี่ การรักษาพยาบาลและสารสนเทศ เพื่อมุ่งหวังชัยชนะทางทหารเป็นสำคัญ

2. การจัดการโลจิสติกส์ด้านวิศวกรรม (Engineering Logistics Management) คือ การจัดการด้านการวิศวกรรมจัดส่งลำเรียง อันได้แก่การออกแลลและสร้าง การบูรณาการและการบำรุงรักษา ทั้งระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางท่อ ระบบการดูแล-จัดเก็บและระบบสารสนเทศ เพื่อมุ่งหวังความพร้อมในระบบการจัดเก็บและการลำเรียงเป็นสำคัญ

3. การจัดการโลจิสติกส์ด้านธุรกิจ (Business Logistics Management) คือ การจัดการด้านการจัดเก็บและจัดส่งสินค้า จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งตามที่ตลาดต้องการ เพื่อมุ่งหวังความสำเร็จทางธุรกิจเป็นสำคัญ

ทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้รู้จักคำว่า #โลจิสติกส์ มากขึ้น เป็นพื้นฐานให้เห็นภาพการจัดการและดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ในธุรกิจให้เข้าใจและชัดเจนขึ้น